วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

โรคร้าย&ผู้หญิง

โรคร้ายที่ผู้หญิงควรรู้
- มะเร็งเต้านม มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดี ถูกจัดเป็นหนึ่งในโรคร้ายแรง ซึ่งผู้หญิงหลายคนยังหวาดหวั่นกับโรคนี้อยู่ มะเร็งเต้านมก็คือ เซลล์เนื้อร้ายในเนื้อเยื่อเต้านม ผู้หญิงหลายคนอาจสังเกตเห็นปัญหาในเบื้องต้นได้เมื่อคลำพบก้อนที่เต้านม หรือมีของเหลวซึมออกมาจากหัวนม
ปัจจัยของโรคนี้มีสาเหตุหลายอย่างทั้ง พันธุกรรม การใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลานานเกิน 5 ปี ภาวะน้ำหนักเกิน การดื่มสุราจัด ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมทั้งสิ้น ผู้หญิงทุกคนควรตรวจหาก้อนเนื้อที่เต้านมด้วยตนเอง และควรไปตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม หรืออุลตร้าซาวน์ด์เป็นประจำทุกปี สำหรับผู้หญิงที่อายุเกิน 40 ขึ้นไป         
- โรคหลอดเลือดสมอง ดูจะได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ น้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นตัวการคร่าชีวิตผู้หญิงไทยเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากผู้หญิงมีอายุยืนกว่าจึงได้รับความทรมานจากโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ชายไปโดยปริยาย โรคหลอดเลือดสมองเกิดจาก การที่หลอดเลือดซึ่งพาออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอุดตัน ทำให้สมองขาดออกซิเจนและเกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อการพูด การเคลื่อนไหวของร่างกาย อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกรณีที่รุนแรง
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง เริ่มจากแขนขาอ่อนแรงหรือชาบริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น มีปัญหาด้านการพูดหรือการเข้าใจบทสนทนา ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาการวิงเวียนหรือวูบแบบเฉียบพลัน
นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน รวมทั้งผู้ที่เคยรับประทานยาคุมกำเนิด ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย
- โรคหัวใจ สำหรับทั่วโลกและในประเทศไทย โรคหัวใจคร่าชีวิตผู้หญิงมากกว่าโรคมะเร็งเสียอีก โรคหัวใจเป็นความผิดปกติของหลอดเลือดซึ่งจำกัดหรือตัดการลำเลียงออกซิเจนไปสู่หัวใจ ปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้
อาการของโรคหัวใจ จะปวดเสียดที่หน้าอก หายใจไม่ออก หายใจถี่ ปวดกราม ปวดไหล่ วิงเวียน คลื่นเหียน อาจาร และเหงื่อแตก สำหรับผู้หญิงนั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้แก่ ความเครียดเรื้อรัง น้ำหนักที่เกินมาตรฐาน มักเกิดขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน สูบบุหรี่จัด และครอบครัวมีประวัติการเจ็บป่วย
ทางที่ดีควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และถูกต้องตามหลักควบคุมน้ำหนัก ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การผ่อนคลายก็เป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมการเกิดโรคหัวใจได้
- มะเร็งรังไข่ เป็นโรคที่ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า ท้ายสุดส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงแก่ชีวิตได้ วารสารสมาคมการแพทย์อเมริกา ระบุว่าร้อยละ 94 ของผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ เริ่มมีอาการของมะเร็งมานานแล้ว อาการของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ คือ ช่องท้องบวมหรือขยายตัวเร็ว อ่อนเพลีย เมื่อยล้า เจ็บบริเวณกระดูกเชิงกรานและช่องท้อง ปัสสาวะบ่อย และขับถ่ายผิดปกติ ฯลฯ 
การตรวจพบมะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มแรกมีความสำคัญเพราะอาจช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้ ในระยะแรกโรคจะจำกัดวงอยู่เฉพาะภายในรังไข่ แต่หลังจากนั้นจะแพร่ขยายอย่างรวดเร็วไปยังส่วนต่างๆ โดยเฉพาะ ช่องคลอด สำหรับการตรวจหามะเร็งรังไข่มีหลายวิธี ได้แก่ การตรวจช่องคลอดและทวารหนัก การตรวจอัลตร้าซาวน์ด์อุ้งเชิงกราน ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งรังไข่ไม่แตกต่างจากมะเร็งทั่วไปในเรื่องของประวัติครอบครัว รวมทั้งความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
- โรคกระดูกพรุน แม้โรคกระดูกพรุนอาจไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงแก่ชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่คุกคามคุณภาพชีวิตของผู้หญิงไทยหลายล้านคนเลยทีเดียว ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนคงยืนยันได้ถึงความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดและการมีข้อจำกัดทางกายภาพซึ่งเป็นธรรมชาติของโรคนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้โรคกระดูกพรุนยังเป็นสาเหตุของอาการกระดูกสะโพกร้าวซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุน ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุราจัด การกินอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดีต่ำ ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสูงขึ้น เราสามารถป้องกันได้โดยการบริโภคแคลเซียมอย่างเพียงพอ ประกอบกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะกระดูกจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 30 ปี และเริ่มเสื่อมลงอย่างช้าๆ ดังนั้นยิ่งกระดูกเราแข็งแรงมากเท่าไรในช่วงที่พัฒนาเต็มที่ ก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพกระดูกเท่านั้น
    http://www.pooyingnaka.com/story/story.php?Category=health&No=1937

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น